เป็นวิชาสาระเพิ่มเติมในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนเทพลีลา กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาวิชาแบ่งเป็น ๒ ภาคเรียน ภาคเรียนที่ ๑ คือวิชา วรรณกรรมไทยในสื่อภาพยนตร์ และภาคเรียนที่ ๒ คือ วิชาวรรณคดีไทยในสื่อภาพยนตร์ เปิดสอนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ที่เลือกเรียนโปรแกรม ศิลป์-คำนวณ และศิลป์ภาษา สาระการเรียนรู้จะเน้นการศึกษางานวรรณกรรมและวรรณคดีไทย ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทย โดยการวิเคราะห์เนื้อหาเปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่าง ตลอดจนการวิจารณ์แสดงความคิดเห็น ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุนตามมุมมองและทัศนะต่างๆของผู้เรียน นอกเหนือจากการศึกษาประวัติความเป็นมาของกำเนิดภาพยนตร์ไทย วรรณกรรมไทยและวรรณคดีไทย

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ใบงานวิชาวรรณกรรมไทยในสื่อภาพยนตร์ ครั้งที่ ๒ / ๒๕๕๔

ให้นักเรียนอ่านบทความต่อไปนี้แล้วแสดงความคิดเห็นดังนี้
 ๑. เป็นบทความเกี่ยวกับเรื่องอะไร ผู้เกี่ยวข้องมีใครบ้าง
 ๒. มุมมองของนักเรียนในเรื่องดังกล่าวมีอะไรบ้าง จงอธิบาย
 ๓. ข้อคิดที่ได้จากบทความที่อ่านเป็นอย่างไร จงแสดงทัศนะ

PDFพิมพ์อีเมล
หนังกลางลาน..ย้อนวันวานหนังไทย
 
            กลิ่นหอมโชยแตะจมูกผู้คนที่เดินผ่านไปมา ชวนให้หยุดมองตู้กระจกที่เต็มไปด้วยข้าวโพดคั่ว สายไหมหลากสีกำลังปั่นขึ้นเป็นก้อน ชายหญิงยืนมุงหน้าซุ้มน้ำจรวด น้ำหวานหลากรสผสมด้วยโซดา ถัดไปข้าง ๆ ชายวัยกลางคนกำลังนั่งปั้นตุ๊กตา ดอกไม้ จากน้ำตาลปั้นสีแดง ขาว เขียว ของหวานสุดฮิตในดวงใจของใครหลาย ๆ คน
ส่งท้ายปลายเดือนมิถุนายนด้วยความประทับใจแห่งวันวาน โดย อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับหอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) มูลนิธิหนังไทย นิตยสารไบโอสโคป และนิตยสารฟิ้ว ร่วมย้อนบรรยากาศของหนังกลางแปลงมาไว้ในงาน “เทศกาล ปูเสื่อ กางจอ ดูหนังกลางลาน”
เวลาบ่ายโมงครึ่งของวันที่ 23 มิถุนายน เสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง เช่น จงรัก สบายดีหลวงพระบาง รักแห่งสยาม จักรยานสีแดง ฯลฯ ร้องบรรเลงโดยวง TK Band ดังไปทั่วบริเวณลานสานฝัน ที่ปูเสื่อกกสกรีนชื่องานและชื่อภาพยนตร์ไทยที่เคย
โด่งดังมาแล้วในอดีตหลากหลายเรื่อง เช่น บ้านทรายทอง แม่นาคพระโขนง ชุมทางเขาชุมทอง เป็นต้น

ชื่องานเทศกาลและชื่อภาพยนตร์ บนเสื่อกกกลางลานสานฝัน
 
เมื่อถึงเวลาฤกษ์งามยามดี 14.00 น. ดร. ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park รักษาการ
ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้
ได้ขึ้นกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานเทศกาลครั้งนี้โดยมุ่งหวังจะสร้างการเรียนรู้และ
ส่งเสริมทัศนคติ ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมผ่านสื่อภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์เป็นสิ่งบันทึกเหตุการณ์ สภาพ
บ้านเมือง สังคม การเมือง วัฒนธรรม ทัศนคติ ตลอดจนเป็นสื่อที่สร้างแรงบันดาลใจ และจินตนาการ อีกทั้งปรารถนาให้เป็นการเปิดพื้นที่
แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นโดยผ่านนิทรรศการ วิทยากร และงานเสวนา
จากนั้น พลเรือเอก ฐนิธ กิตติอำพน รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ได้กล่าวเปิดงานเทศกาล ปูเสื่อกางจอ ดูหนังกลางลาน ... ผมเชื่อว่าผู้ที่เข้าชม จะได้รับความรู้และความเข้าใจว่าในอดีตที่ผ่านมากว่าร้อยปีนั้นเราได้ทำภาพยนตร์มาแล้ว สิ่งที่ดีและเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ไทยมีมากและทางหอภาพยนตร์ได้เก็บรักษาภาพยนตร์ที่มีคุณค่า ซึ่งการนำมาเผยแพร่จะได้เห็นภาพยนตร์ในอดีตว่าผ่านกรรมวิธี การทำอย่างไร เล่าเรื่องอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์และเป็นแนวคิดที่จะเอาไปต่อยอดได้...”
สำหรับพิธิเปิดเทศกาล ปูเสื่อ กางจอ ดูหนังกลางลานนั้น ประธานในพิธีและตัวแทนจากหน่วยงานภาคีผู้ร่วมสนับสนุนเทศกาล ร่วมสับเสลท(slate แผ่นไม้กระดานที่ใช้เขียนบันทึกฉากและเทคการถ่ายทำ) ซึ่งเป็นเสลทที่จำลองจากภาพยนตร์สมัยโรงหนังศรีกรุง
“กล้อง!” เสียงจากผู้กำกับถือโทรโข่ง ดังลอยมาแต่ไกล
“พร้อม”
”ไฟ!”
“พร้อม”
“แอ็คชั่น!”
เสลทฟันฉับลง เทศกาล ปูเสื่อ กางจอ ดูหนังกลางลาน ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว

ประธานในพิธี สับเสลทเปิดงาน “เทศกาล ปูเสื่อ กางจอ ดูหนังกลางลาน”
 
ประเดิมด้วยการชมภาพยนตร์ ร้อยหนังไทย เป็นการรวมภาพยนตร์หลายร้อยเรื่องในเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ
ประวัติศาสตร์ การเมือง สภาพสังคมในหลายช่วงเวลา มาร้อยเรียงเป็นภาพยนตร์ให้พวกเราได้ชมกัน นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติจาก
อ.โดม สุขวงศ์ หัวหน้างานอนุรักษ์ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นผู้บรรยายเรื่องราวสำคัญ ๆ เช่น โผน กิ่งเพชร ชกมวยชิงแชมป์โลก อาภัสรา หงสกุลขณะกำลังประดับมงกุฏนางงามจักรวาล ขบวนช้างในเรื่องพระเจ้าช้างเผือก พิธีโล้ชิงช้า ฯลฯ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ทำให้ผู้ชมสามารถย้อนความทรงจำนึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ

อ.โดม สุขวงศ์ บอกเล่าเรื่องราว ในช่วง “ร้อยหนังไทย”
 
ต่อด้วยช่วงเสวนา “จากใจ...คนรักหนังไทย” โดย ดร. ทัศนัย วงศ์พิเศษกุลคุณอดิศักดิ์ เซ็กรัตน์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิหนังไทย และ คุณสุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการบริหารนิตยสาร
ไบโอสโคปและนิตยสารฟิ้ว โดยมี พี่เบน นางสาวชวันธร มงคลเลิศลพ เจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมพูดคุยกัน ณ ลานสานฝัน
พี่เบนเริ่มด้วยการพูดคุยถึงบทบาทของแต่ละท่านในวงการภาพยนตร์ไทย เพื่อเป็นการทำความรู้จักกันให้มากขึ้น โดยคุณชลิดาเริ่มกล่าวก่อนว่า “มูลนิธิหนังไทยมีหน้าที่คอยช่วยเอาผลงานอนุรักษ์มาเผยแพร่และอีกหนึ่งกิจกรรมคือการส่งเสริมการทำหนังสั้น ซึ่งในปีแรกมีคนที่ส่งมา 30 เรื่อง แต่ปีนี้มีคนส่งถึง 500 เกือบ 600 เรื่อง”
ทางคุณอดิศักดิ์ กล่าวว่า“หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ทำหน้าที่อนุรักษ์รวบรวมภาพยนตร์ไทยทุกชนิดเพื่อมาเก็บเป็นข้อมูล เป็นจดหมายเหตุ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ “
 สำหรับ บรรณาธิการบริหารหนุ่ม คุณสุภาพ พูดถึงที่มาของนิตยสารทั้งสองเล่มว่า “ต้องขอพูดถึงนิตยสารไบโอสโคปก่อน ซึ่งจะเน้นหนังใหญ่ที่ฉายอยู่ตามโรงทั่วไป ในขณะที่แต่เดิมนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่อยู่ในตลาด จะเน้นชวนคนมาดูหนังกันอย่างเดียว แล้วเราคุยกันว่าหนังที่ไม่ได้ฉายในโรงจะมีลู่ทางที่จะได้ฉายยังไงบ้าง เราจึงจะพูดถึงการชวนให้คนดูหนัง มาคุยกันมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และก็จะมีปรากฏอยู่ในนิตยสารฟิ้ว ซึ่งเล่มนี้จะเน้นพูดถึงกลุ่มคนทำหนังนอกกระแสหลัก”

วิทยากรกำลังเสวนากันอย่างออกรส
 
และเมื่อพี่เบนถามถึงบทบาทของหนังไทยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเยาวชนหรือสังคมอย่างไรบ้าง วิทยากรแต่ละท่านได้แลกเปลี่ยนมุมมองไว้อย่างน่าสนใจ
คุณสุภาพ เห็นว่าการมองผ่านมุมมองของหนังเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ คน และเป็นเสมือนทางลัดในการเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ซึ่งคุณอดิศักดิ์มีความเห็นที่สอดคล้องและได้เพิ่มเติมว่า “การดูหนังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทำให้เกิดปัญญาและการรู้แจ้งเห็นจริงได้ ซึ่งหนังไทยมีเสน่ห์ที่วัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพียงใด แต่เนื้อหาในหนังก็ยังสะท้อนสังคม ความรู้สึกนึก ความเชื่อ
วิถีชีวิต ภาพยนตร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งเพื่อสะท้อนวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในการเสริมสร้างความเข้าใจ”
ทางคุณชลิดาให้ทัศนะว่า “หนังไทยยังทำหน้าที่ให้วิธีคิดหรือตัวชี้นำให้แก่สังคมน้อยไป เพราะเราอาจจะมีข้อจำกัดทางด้านความคิดมาก หนังไทยจึงไม่อาจจะแสดงวิธีคิดได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นทุกคนจึงเลือกทำหนังการค้าเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน แต่อยากเรียกร้องให้หนังไทยได้ทำหน้าที่ให้ความคิดมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีเสรีภาพ สังคมที่เปิดรับและก็คงจะมีคนที่ทำกันมากขึ้นได้”
อีกมุมหนึ่ง ดร. ทัศนัย ได้สรุปให้เห็นถึงคุณค่าของภาพยนตร์ไทยว่า “เป็นการหยุดภาพช่วงนั้นด้วยภาพเคลื่อนไหว ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิต และแนวคิดของคนในช่วงนั้น สมัยนั้น ทำให้เราสามารถเรียนรู้อดีตในขณะที่เราอยู่ในปัจจุบัน เราสามารถเรียนรู้หนังได้ผ่านความบันเทิงหรือจากเพลง ซึ่งถ้าเราเอาสื่อภาพยนตร์นี้มาให้เยาวชนลองทำ เขาจะได้ลงมือทำ ได้เขียน ได้ซาบซึ้ง ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของเยาวชน”

ตอนหนึ่งในหนัง “แหวนวิเศษ”
 
ช่วงท้ายพิธิเปิดเทศกาล ปูเสื่อ กางจอ ดูหนังกลางลานนั้น ผู้ชมยังได้ชมภาพยนตร์เงียบขนาดสั้น ฉบับสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เรื่อง “แหวนวิเศษ” ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 7) ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง แต่งเรื่อง และกำกับการแสดง และโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายทำขึ้นที่เกาะพงันในหมู่เกาะสมุยช่วงปีพ.ศ. 2472 ใช้เวลาฉายทั้งเรื่องราว 40 นาที
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวถึง พ่อเลี้ยงใจร้ายพาลูกเลี้ยง 5 คนไปปล่อยเกาะโดยวางแผนบังคับให้หาผลไม้มาให้ “ซน” ลูกเลี้ยงคนหนึ่งได้พบนางพรายและได้รับมอบแหวนวิเศษที่เมื่อชี้ของจะเสกเป็นอะไรก็ได้ดั่งใจ เด็ก ๆ จึงเอาไปให้พ่อเลี้ยงดู ด้วยความโลภพ่อเลี้ยงจึงคิดกำจัดลูก ๆ ต่อมาซนรู้เขาจึงชี้ให้พ่อเลี้ยงกลายเป็นสุนัข และสุดท้ายได้เสกกลับเป็นดังเดิม พ่อเลี้ยงรู้สำนึกผิดจึง ขอโทษและชวนกันกลับบ้าน ตอนจบแหวนวิเศษก็หลุดจากมือหล่นตกลงน้ำหายไป
หนังเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นเทคนิค และกลวิธีการเล่าเรื่องที่มีมุมมองน่าสนใจ แม้จะผ่านระยะเวลามาอย่างยาวนานแต่ก็ยังสามารถเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมในงานได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะในวันนี้ได้มีการบรรเลงเปียโนสดประกอบการชมภาพยนตร์เรื่องแหวนวิเศษนี้ด้วย ซึ่งทำให้เกิดอรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้น

อ.นัยนา จิตรรังสรรค์ และคณะนักเรียน โรงเรียนเทพลีลา
 
อ.นัยนา จิตรรังสรรค์ อาจารย์ประจำวิชาวรรณกรรมไทยในสื่อภาพยนตร์ โรงเรียนเทพลีลา ที่ได้พานักเรียนมาชมเทศกาลในครั้งนี้ ได้บอกเล่าถึงความประทับใจว่า
“ตอนเด็กครูเองดูหนังไทยเยอะมากและยังคงจำได้ถึงบรรยากาศเก่า ๆ พอมาถึงปัจจุบันหนังเก่า ๆ มันแทบจะสูญหายไปหมดแล้ว แต่ด้วยการอนุรักษ์ รณรงค์ และจัดกิจกรรมเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่ามันได้ฟื้นกลับคืนมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เป็นการเชิดชูเสน่ห์หนังไทยอย่างหนึ่ง อยากให้คนไทยได้สืบทอดไม่อยากให้หนังไทยหายไปจากวงการ เพราะอย่างน้อยเราควรจะต้องรู้จักรากเหง้าว่าเราเป็นใคร? มาจาก
ที่ไหน?”

น้องกิ๊ฟ เด็กสาวที่เริ่มหลงใหลเสน่ห์หนังไทย
 
อีกด้านหนึ่งเป็นความเห็นของวัยรุ่นยุคใหม่ที่อาจจะไม่ได้สัมผัสบรรยากาศเก่า ๆ ของหนังกลางแปลงอีกแล้ว น้องกิ๊ฟ
นางสาวกนกพร แดงวิจิตร จากศูนย์ข่าวเยาวชนไทยโรงเรียนเทพลีลา
“หนังไทยมีเสน่ห์ตรงที่ได้สะท้อนมุมเก่าของเมืองไทย ทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้ย้อนอดีตทำความเข้าใจมากขึ้น หนูชอบอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างกล้องที่ต้องใช้มือในการหมุนเพื่อถ่ายทำ หรือฟิล์มเก่า ๆ ค่ะ”

น้องโบ บอกเล่าถึงความประทับใจหนังกลางลาน
และอีกหนึ่งสาว น้องโบ หรือนางสาวเพชรรัตน์ เพ่งไพฑูรย์ ที่ประทับใจบรรยากาศของหนังกลางลานในอดีตได้บอกว่า “ชอบกิจกรรมที่หนังกลางลานค่ะ เพราะสมัยนี้ถ้าเป็นหนังกลางแปลงมันหาได้ยากแล้ว เหมือนว่าเราได้กลับมาย้อนยุคได้ร่วมสมัยอีกครั้ง คิดว่า
หนังกลางแปลงจะอยู่คู่สังคมไทยได้ เพราะคนทุกคนได้มาดูหนังร่วมกัน เป็นการผูกสัมพันธุ์ มันย่อมดีกว่าต่างคนต่างเข้าไปในโรงหนังแล้ว
ไม่รู้จักกัน คิดว่าถ้าผู้ใหญ่สนับสนุนกันมากขึ้น เยาวชนไทยก็จะหันมาสนใจได้เหมือนกัน”
แม้ในปัจจุบันการชมภาพยนตร์จะเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่นำแผ่นวีซีดีเข้าเครื่องและกดปุ่มเล่น แต่การดูหนังผ่านหน้าจอโทรทัศน์ธรรมดา คงได้อรรถรสน้อยกว่าการแวะเข้ามานั่งเล่นดูหนังกลางลาน เทศกาลที่ชวนให้ใครหลายคนได้ย้อนวันวานกลับไปดูหนังไทยที่เรา
คุ้นเคย ตราบเท่าที่ความสนุกยังไม่สิ้นและกลิ่นข้าวโพดคั่วยังไม่จาง
 
Law If Moon
 
 
 
* ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือนิทานของลุงเรื่อง “แหวนวิเศษ” ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และภาพยนตร์พุทธประวัติ “บุรพประทีป” โดยมูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร
สูจิบัตร เทศกาลปูเสื่อ กางจอ ดูหนังกลางลาน
http://www.ranthong.com/smf/index.php?topic=6323.0;wap2

 


PDFพิมพ์อีเมล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น